วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พันธุ์สุกรจากต่างประเทศ และพันธุ์สุกรพื้นเมืองที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย

พันธุ์สุกรจากต่างประเทศ



1.พันธุ์ลาร์จไวท์
          มีถิ่นกำเนิดในประเทศอังกฤษ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอังกฤษ นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 มีสีขาว หูตั้ง ลำตัวยาว กระดูกใหญ่ โครงใหญ่ หน้าสั้น หัวใหญ่ โตเต็มที่น้ำหนัก 200-250 กิโลกรัม ให้ลูกดกเฉลี่ย 9-10 ตัว เลี้ยงลูกเก่ง หย่านมเฉลี่ย    8-9 ตัว มีความแข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว คุณภาพซากดี พันธุ์ลาร์จไวท์ เหมาะที่ใช้เป็นทั้งสายพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์





2.พันธุ์แลนด์เรซ
          มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเดนมาร์ค นำเข้ามาในประเทศไทยปี พ.ศ. 2506 มีสีขาว หูปรก ลำตัวยาว มีซี่โครงมากถึง 16-17 คู่ (สุกรปกติมีกระดูกซี่โครง 15-16 คู่) หน้ายาว โตเต็มที่ 200-250 กิโลกรัม ให้ลูกดกเฉลี่ย 9-10 ตัว เลี้ยงลูกเก่ง หย่านมเฉลี่ย 8-9 ตัว มีข้อเสียคือ อ่อนแอ มักจะมีปัญหาเรื่องขาอ่อน ขาไม่ค่อยแข็งแรง แก้ไขโดยต้องเลี้ยงด้วยอาหารที่มีคุณภาพดี พันธุ์แลนด์เรซเหมาะที่ใช้เป็นสายแม่พันธุ์





3.พันธุ์ดูร็อคเจอร์ซี่   
          มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอเมริกา มีสีแดงหูปรกเป็นส่วนใหญ่ ลำตัวสั้นกว่าลาร์จไวท์ และแลนด์เรซ ลำตัวหนา หลังโค้งโตเต็มที่ 200-250 กิโลกรัม เป็นสุกรที่ให้ลูกไม่ดกเฉลี่ย 8-9 ตัวเลี้ยงลูกไม่เก่ง หย่านมเฉลี่ย 6-7 ตัว ลูกสุกรหลังจากอายุ 2 เดือนไปแล้วเจริญเติบโตเร็ว มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศทุกชนิด นิยมใช้เป็นสายพ่อพันธุ์เพื่อผลิตลูกผสมที่สวยงาม แผ่นหลังกว้าง เจริญเติบโตเร็ว





3.พันธุ์เปียแตรง
          มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเบลเยี่ยม มีสีดำขาวเหลือง ลายสลับ เป็นสุกรที่มีรูปร่างสวยงาม กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ แผ่นหลังกว้างเป็นปีก สะโพกเห็นเด่นชัด โตเต็มที่ 150-200 กิโลกรัม มีเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงสูงมาก มีข้อเสีย คือ ตื่นตกใจช็อคตายง่าย และโตช้า ปัจจุบันนิยมใช้ผสมข้ามพันธุ์ในการผลิตสุกรขุน







สุกรพื้นเมือง

          เป็นสุกรที่เลี้ยงอยู่ตามหมู่บ้านชนบทพวกชาวเขา ลักษณะโดยทั่วไปจะมีขนสีดำ ท้องยาน หลังแอ่น การเจริญเติบโตช้า ให้ลูกดก และเลี้ยงลูกเก่ง จะมีชื่อเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น สุกรพันธุ์ไหหลำ พันธุ์ควาย พันธุ์ราด พันธุ์พวง สุกรป่า เป็นต้น



1.สุกรพันธุ์ไหหลำ
          เลี้ยงตามภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย มีสีดำปนขาว ตามลำตัวจะมีสีดำ ท้องมักมีสีขาว จมูกยาวและแอ่นเล็กน้อย คางย้อย ไหล่กว้าง หลังแอ่น สะโพกเล็ก มีอัตราการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ได้ดีกว่าสุกรพื้นเมืองอื่น ๆ แม่สุกรโตเต็มที่ หนักประมาณ 100-120 กิโลกรัม




2.สุกรพันธุ์ราดหรือพวง
          เลี้ยงตามภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ มีขนสีดำตลอดตัว มีสีขาวปนแซมบ้างเล็กน้อย จมูกยาว ลำตัวสั้นป้อม หลังแอ่น ใบหูตั้งเล็ก ผิวหนังหยาบ แม่สุกรโตเต็มที่ หนักประมาณ 80-100 กิโลกรัม





  
3.สุกรพันธุ์ควาย
          เลี้ยงตามภาคเหนือและภาคกลาง มีลักษณะคล้ายสุกรไหหลำ แตกต่างกันที่พันธุ์ควายจะมีสีดำ สุกรพันธุ์ควายมีหูใหญ่ ปรกเล็กน้อย มีรอยย่นตามตัว เป็นสุกรที่มีขนาดใหญ่ กว่าสุกรพื้นเมืองพันธุ์อื่น แม่สุกรโตเต็มที่ หนักประมาณ 80-100 กิโลกรัม




 4.สุกรป่า

          เลี้ยงตามภาคต่าง ๆ ทั่วไป มีขนหยาบแข็ง สีน้ำตาลเข้มหรือสีดำเข้ม หรือสีดอกเลา หนังหนา หน้ายาว จมูกยาวและแหลมกว่าสุกรพื้นเมือง ขาเล็กและเรียว ดูปราดเปรียว ที่พบมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์หน้ายาว และพันธุ์หน้าสั้น แม่สุกรโตเต็มที่หนักประมาณ 80
กิโลกรัม 



          นอกจากนี้ก็มีสุกรพันธุ์แฮมเชียร์ เบอร์กเชียร์ และเหมยซาน ที่นำเข้ามาทดลองเลี้ยงดูในประเทศไทย แต่ไม่นิยมเลี้ยงแพร่หลาย ที่นิยมเลี้ยงกันมากมีเพียง 3 พันธุ์เท่านั้น คือ ลาร์จไวท์ แลนด์เรซ และดูร็อคเจอร์ซี่ ส่วนสุกรลูกผสมที่ผลิตเป็นสุกรขุน นิยมใช้สุกร 3 สายพันธุ์ คือ ดูร็อคเจอร์ซี่ x แลนด์เรซ-ลาร์จไวท์ (โดยใช่พ่อพันธุ์แท้ดูร็อคเจอร์ซี่ และแม่ลูกผสมแลนด์เรซ-ลาร์จไวท์)


สุกรพันธุ์แฮมเชียร์

สุกรพันธุ์เหมยซาน

การแบ่งประเภทของสุกร

แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามการใช้ประโยชน์ คือ
1.ประเภทมัน    เป็นสุกรรูปร่างตัวสั้น อ้วนกลม มีมันมาก สะโพกเล็ก โตช้า เช่น สุกรพันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทย 
สุกรพันธุ์ไหหลำ


2.ประเภทเนื้อ   รูปร่างจะสั้นกว่าพันธุ์เบคอน ไหล่และสะโพกใหญ่ เด่นชัด ลำตัวหนาและลึก ได้แก่ พันธุ์ดูร็อคเจอร์ซี่ เบอร์กเชียร์ แฮมเชียร์ เป็นต้น
สุกรแฮมเชียร์

3.ประเภทเบคอน    รูปร่างใหญ่ ลำตัวยาว มีเนื้อมาก ไขมันน้อย ความหนาและความลึกของลำตัวน้อยกว่าประเภทเนื้อ ได้แก่ พันธุ์แลนด์เรซ ลาร์จไวท์ เป็นต้น

สุกรพันธุ์ลาร์จไวท์

การเลี้ยงสุกร

          ปัจจุบันการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยได้มีการพัฒนาการด้านพันธุ์อาหารสัตว์ การจัดการและการสุขาภิบาล จนทัดเทียมกับต่างประเทศ การเลี้ยงสุกรภายในประเทศ แม้จะมีฟาร์มใหญ่ ๆ แต่ก็ยังมีเกษตรกรรายย่อยที่ทำการเลี้ยงสุกรรายละ 1-20 ตัว ตามหมู่บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก เกษตรกรรายย่อยดังกล่าวจำเป็นจะต้องได้รับความรู้ในด้านการเลี้ยงสุกรอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้นำไปพัฒนาการเลี้ยงสุกรอย่างถูกต้องเพื่อจะได้นำไปพัฒนาการเลี้ยงสุกรของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำรายได้ให้กับครอบครัว และยังจะได้ประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรให้ได้ผลดีด้วย



ปัจจัยที่จะทำให้การเลี้ยงสุกรประสบความสำเร็จประกอบด้วย
   - สุกรพันธุ์ดี
   - อาหารดี
   - โรงเรือนดี
   - การจัดการเลี้ยงดูดี
   - การป้องกันโรคดี

เหตุผลในการเลี้ยงสุกร
   - สุกรสามารถเลี้ยงได้ในจำนวนน้อยเป็นฟาร์มเล็ก ๆ
   - ในการเลี้ยงสุกรต้องการพื้นที่เพียงเล็กน้อย
   - การเลี้ยงสุกรใช้แรงงานน้อย เลี้ยงง่าย
   - ใช้เศษอาหารและของเหลือต่าง ๆเป็นอาหารสุกรได้
   - มูลสุกรใช้เป็นปุ๋ยอย่างดีและใช้กับบ่อเลี้ยงปลา เพื่อเพิ่มผลผลิตของการเลี้ยงปลา
   - สุกรให้ลูกดก ขยายพันธุ์ได้เร็ว
   - การเลี้ยงสุกรเป็นกิจการที่ให้ผลกำไรดี สามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 6 เดือน